วันอาทิตย์ที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550

กาพย์เห่เรือ


กาพย์เห่เรือ เป็นคำประพันธ์ประเภทหนึ่ง แต่งไว้สำหรับขับร้องเห่ในกระบวนเรือ โดยมีทำนองเห่ที่สอดคล้องกับจังหวะการพายของฝีพาย ว่าช้า หรือเร็ว มักจะมีพนักงานขับเห่หนึ่งคนเป็นต้นเสียง และฝีพายคอยร้องขับตามจังหวะ พร้อมกับการให้จังหวะจากพนักงานประจำเรือแต่ละลำ
คำประพันธ์
กาพย์เห่เรือนั้น ใช้คำประพันธ์ 2 ชนิดด้วยกัน นั่นคือ กาพย์ยานี 11 และโคลงสี่สุภาพ เรียงร้อยกันในลักษณะที่เรียกว่า กาพย์ห่อโคลง โดยมักขึ้นต้นด้วยโคลง 1 บท แล้วตามด้วยกาพย์ยานี เรื่อยไป จนจบตอนหนึ่งๆ เมื่อจะขึ้นตอนใหม่ ก็จะยกโคลงสี่สุภาพมาอีกหนึ่งบท แล้วตามด้วยกาพย์จนจบตอน เช่นนี้สลับกันไป
กาพย์เห่เรือที่เก่าแก่ที่สุด ที่พบในเวลานี้ คือ กาพย์เห่เรือในเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ (เจ้าฟ้ากุ้ง) ในรัชกาลพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ สมัยอยุธยาตอนปลาย ทรงแต่งไว้ 2 เรื่อง คือบทเห่ชมเรือ ชมปลา ชมไม้ และชมนก มีลักษณะเป็นเหมือนนิราศ กับอีกเรื่องหนึ่ง คือเรื่องกากี
สันนิษฐานกันว่ากาพย์เห่เรือ เดิมคงจะแต่งเพื่อขับเห่กันเมื่อเดินทางไกลในแม่น้ำลำคลอง แต่ในภายหลังคงมีแต่เจ้านายหรือพระราชวงศ์ชั้นสูง และสุดท้ายมีใช้แต่ในกระบวนเรือของพระเจ้าแผ่นดินเท่านั้น
กาพย์เห่เรือไม่สู้จะนิยมประพันธ์กันมากนัก เนื่องจากถือเป็นคำประพันธ์สำหรับใช้ในพิธีการ คือ ในกระบวนเรือหลวง หรือกระบวนพยุหยาตราชลมารค ไม่นิยมใช้ในพิธีหรือสถานการณ์อื่นใด การแต่งกาพย์เห่เรือจึงมักแต่งขึ้นสำหรับที่จะใช้เห่เรือจริงๆ ซึ่งในแต่ละรัชกาล มีการเห่เรือเพียงไม่กี่ครั้งเท่านั้น


ตัวอย่างคำประพันธ์
สิบเอ็ดบอกความนัย หนึ่งบาทไซร้ของพยางค์
วรรคหน้าอย่าเลือนราง จำนวนห้าพาจดจำ
หกพยางค์ในวรรคหลัง ตามแบบตั้งเจ้าลองทำ
สัมผัสตามชี้นำ โยงเส้นหมายให้เจ้าดู
สุดท้ายของวรรคหนึ่ง สัมผัสตรึงสามนะหนู
หกห้าโยงเป็นคู่ เร่งเรียนรู้สร้างผลงาน
อ.ภาทิพ ศรีสุทธิ์
คำอธิบาย
กาพย์ยานี ได้ชื่อว่ายานี ๑๑ เพราะ จำนวนพยางค์ใน ๒ วรรค หรือ ๑ บรรทัด
รวมได้ ๑๑ พยางค์
๑ บท มี ๔ วรรค วรรคหน้า ๕ พยางค์ วรรคหลัง ๖พยางค์
สัมผัสระหว่างวรรค
ใน ๑ บท มีสัมผัส ๒ คู่ สังเกตจากแผนผังและตัวอย่าง
เพราะครูผู้นำทาง ใช่เรือจ้างรับเงินตรา พุ่มพานจึงนำมา กราบบูชาพระคุณครู
สัมผัสระหว่างบท
พยางค์สุดท้ายของบทต้น สัมผัสกับพยางค์สุดท้ายของวรรคที่ ๒ของบทถัดไป
ตัวอย่าง
เพราะครูผู้นำทาง ใช่เรือจ้างรับเงินตรา
พุ่มพานจึงนำมา กราบบูชาพระคุณครู
หญ้าแพรกแทรกดอกไม้ พร้อมมาลัยอันงามหรู
เข็มดอกออกช่อชู จากจิตหนูผู้รู้คุณ
ลักษณะพิเศษของกาพย์เห่เรือ
1. ลักษณะของสำนวนและความหมาย ใช้สำนวนกะทัดรัด มีความหมายเด่นชัดเข้าใจง่ายและมีน้ำหนักอย่างเหมาะสม เช่น พระเสด็จโดยแดนชล ทรงเรือต้นงามเฉิดฉาย กิ่งแก้วแพรวพรรณราย พายอ่อนหยับวับงามงอน
2. ลักษณะถ้อยคำ ใช้ถ้อยคำเกลี้ยงเกลาสละสลวย ไพเราะด้วยการสัมผัสและทำให้เกิดภาพพจน์ เช่น เนื้ออ่อนอ่อนแต่ชื่อ เนื้อน้องหรืออ่อนทั้งกาย ใครต้องข้องจิตชาย ไม่วายนึกตรึกตรึงทรวง
3. ลักษณะการพรรณนา การพรรณนาความรู้สึกลึกซึ้งและแยบคายมาก เช่น แก้มช้ำช้ำใครต้อง อันแก้มน้องช้ำเพราะชม ปลาทุกทุกข์อกตรม เหมือนทุกข์ที่พี่จากนาง
4. ลักษณะอารมณ์ เกิดอารมณ์สะเทือนใจ เช่น เพรางายวายเสพรส แสนกำสรดอดโอชา อิ่มทุกข์อิ่มชลนา อิ่มโศกาหน้านองชล
5. ลักษณะการแต่ง แต่งถูกต้อง มีการเล่นอักษร มีสำนวนอุปมาอุปไมย เช่น
รอนรอนสุริย โอ้ อัสดง เรื่อยเรื่อย ลับเมรุลง ค่ำแล้ว รอนรอนจิตจำนง นุชพี่ เพียงแม่ เรื่อยเรื่อยเรียมคอบแก้ว คลับคล้ายเรียมเหลียว
การพิจารณาคุณค่าด้านวรรณศิลป์ เรื่องกาพย์เห่เรือ
1. เนื้อหา แบ่งออกเป็น 5 ตอน คือ
1.1 การชมขบวนเรือในเวลาเช้า ได้พรรณนาไว้อย่างละเอียด พิสดาร
1.2 การชมฝูงปลาในเวลาสายอุปมาอุปไมยอย่างแจ่มชัดและกินใจอย่างยิ่ง
1.3 การชมพรรณนาดอกไม้ในเวลากลางวัน สอดใส่ความรู้สึก และอารมณ์ให้ผู้อ่านคล้อยตาม
1.4 การชมฝูงนกในเวลาเย็น อุปมาอุปไมยแจ่มชัด เด่นชัด
1.5 การคร่ำครวญถึงนาง ในเวลากลางคืน สร้างบรรยากาศเชิงอรรถรสและวังเวง
2. รูปแบบ ลักษณะคำประพันธ์ ใช้กาพย์ห่อโคลง คือ แต่งโคลงสี่สุภาพแล้วแต่งกาพย์เลียนแบบพรรณนาเพิ่มเติม ศิลปะการประพันธ์ทำให้เกิดภาพพจน์ และความรู้สึกทางสุนทรียะอันได้แก่ ความ ชื่นชมในสิ่งสวยงามตามธรรมชาติ ความไพเราะของดนตรี ความรู้สึกแยบคายทาง อารมณ์สะเทือนใจ

การพิจารณาคุณค่าด้านสังคม เรื่องกาพย์เห่เรือ
1. สะท้อนภาพชีวิตคนไทยด้านการคมนาคม แสดงการสัญจรทางน้ำให้เห็นว่าเมืองไทยมีแม่น้ำลำคลองมาก
2. แสดงถึงขนบธรรมเนียมประเพณี เช่น ประเพณีการแต่งกาย ผู้หญิงห่มผ้าสไบคลุมไหล่ การไว้ทรงผม ผู้หญิงนิยมไว้ผมยาวประบ่า แล้วเก็บไรที่ถอนผมออกเป็นวงกลม การบอกเวลา นิยมใช้กลอง ฆ้องเป็นเครื่องบอกเปลี่ยนเวลา

ไม่มีความคิดเห็น: